การสร้างเกมมีหลายขั้นตอน แต่พอแบ่งได้สองส่วน คือการออกแบบเกม และการกำหนดกลไกในการเล่นเกม
การออกแบบเกม เป็นการออกแบบรูปลักษณ์สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในโลกของเกม เช่น พื้นที่สำหรับเล่นเกม ตัวละคร วัตถุต่างๆ เสียงประกอบ เป็นต้น ซึ่งผู้เล่นจะเห็นและได้ยินขณะเล่นเกม
เมื่อมีพร้อมทุกอย่างในโลกของเกมแล้ว ในการเล่นเกมต้องมีกลไกขับเคลื่อนเกม เช่น เป้าหมายในการเล่นเกม ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางในการเล่นเกม ยกตัวอย่างเช่น เกมผจญภัยมี 4 ด่าน เป้าหมายอาจเป็นเอาตัวรอดให้ได้ในแต่ละด่าน ครบทั้ง 4 ด่านด้วยเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละด่าน หรือต้องทำภาระกิจให้สำเร็จในแต่ละด่าน ครบทั้ง 4 ด่าน
นอกจากเป้าหมายของเกมแล้ว เกมต้องมีกฎกติกา มีวิธีการให้คะแนน มีหลายๆ ด่าน (Game Levels) เพื่อเพิ่มความท้าทายให้ผู้เล่น และถ้าเกมยาวมากอาจใช้วิธีเล่าเรื่องประติดประต่อเรื่องราวในแต่ละฉาก เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้ผู้เล่นติดตามเกมต่อ
กลไกหลายๆ อย่างที่กล่าวมา เป็นภาพรวมของทั้งเกม แต่กลไกบางอย่างต้องระบุลงไปยัง สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในโลกของเกม โดยเฉพาะตัวละครหลักๆ ที่มีบทบาทมากในเกม และบางตัวที่เป็นเสมือนตัวแทนของผู้เล่น ที่ผู้เล่นสามารถควบคุมและโต้ตอบกับเกมได้ ตัวละครเหล่านี้ต้องมีกลไกในการเล่น สามารถโต้ตอบกันเองได้ หรือโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อมในเกมได้ วิธีใส่กลไกก็ทำได้ด้วยการเขียนโปรแกรมให้ตัวละครนั้นเอง
การเขียนโปรแกรมใน Kodu เป็นการสร้างพฤติกรรมให้ตัวละคร ตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเกม เช่น ผู้ใช้กดคีย์ลูกศรทำให้ตัวละครเคลื่อนที่ หรือผู้เล่นทำคะแนนได้ครบ 5 คะแนนแล้ว ผู้เล่นเป็นฝ่ายชนะ เป็นต้น
ดังนั้นการเขียนโปรแกรมให้แต่ละตัวละคร จะมีลักษณะเป็นรายการหลายๆ รายการเรียงต่อกันมา โดยในแต่ละรายการจะประกอบด้วย เหตุการณ์ที่ตัวละครนั้นเฝ้ารอให้เกิดขึ้น ตามด้วยการตอบสนองต่อเหตุการณ์จากตัวละครนั้น
ใน Kodu การเขียนโปรแกรมในแต่ละแถว (มีเลขกำกับอยู่) จะใช้วิธีเลือกไอคอน (มีให้เลือกในโปรแกรม) เรียงต่อกันหลัง WHEN เพื่อระบุถึงเหตุการณ์ที่รอให้เกิดขึ้น และเลือกไอคอนเรียงต่อกันหลัง DO แสดงสิ่งที่ต้องการจะทำเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมาจริงๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น